รีวิว The Psychology of Money
สวัสดีครับ วี้ดวิ้วครับ วันนี้มาพบกับ รีวิว The Psychology of Money จิตวิทยาว่าด้วยเงิน หนังสือดีอีกเล่มที่วี้ดวิ้วอยากจะมาแนะนำและป้ายยาให้เพื่อนๆได้ไปซื้อหามาอ่านกัน แต่ต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่าหนังสือเล่มนี้จะแตกต่างจากหนังสือการเงินและการลงทุนเล่มอื่นๆที่เพื่อนๆอาจจะเคยอ่านมาแล้วหรือกำลังจะอ่าน
หนังสือเล่มนี้จะไม่ได้บอกถึงวิธีดูหุ้น หนังสือเล่มนี้จะไม่ได้บอกถึงวิธีลงทุน หนังสือเล่มนี้จะไม่ได้บอกถึงวิธีที่จะทำให้คุณรวยเร็วได้ในห้าวัน ถ้าใครสนใจเนื้อหาเหล่านั้นหรือแบบนั้น หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับคุณครับ แต่ถ้าคุณอยากรู้ว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับการจัดการเงินและการลงทุนในด้านไหน ตามมาอ่านรีวิวเลยครับ
รีวิว The Psychology of Money
หนังสือ The Psychology of Money จิตวิทยาว่าด้วยเงินเขียนโดยคุณ Morgan Housel อดีตนักเขียนของ หนังสือพิมพ์รายวัน The Wall Street Journal และบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน The Motley Fool ปัจจุบันคุณ Morgan Housel เป็นหุ้นส่วนของ Collaborative Fund บริษัทร่วมทุนที่เน้นการจัดหาเงินทุนระยะเริ่มต้นให้กับบริษัทด้านเทคโนโลยี
หนังสือ The Psychology of Money จิตวิทยาว่าด้วยเงินเป็นหนังสือที่ไม่หนาไป ไม่บางไป เพื่อนๆสามารถอ่านจบได้ภายในระยะเวลา 2 – 3 วัน หรือเต็มที่ก็สามารถอ่านจบได้ภายในหนึ่งอาทิตย์ หนังสือเล่มนี้มีทั้งสิ้น 273 หน้า แบ่งออกเป็น 20 บท โดยทั้ง 20 บทนี้ คุณ Morgan Housel ได้เจาะลึกไปในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาและพฤติกรรมของมนุษย์ว่าเกี่ยวข้องยังไงกับการจัดการเงินและการลงทุน
คุณ Morgan Housel ได้เขียนไว้ว่าการจัดการเงินและการลงทุนเป็นเรื่องที่ไม่ได้ซับซ้อนเป็นวิทยาศาสตร์หรือต้องใช้สูตรทางคณิตศาสตร์ที่เข้าใจยาก หรือต้องมีทักษะวิชาการเงิน หรือคุณต้องโคตรฉลาด แต่มันเกี่ยวกับการจัดการความคิด การจัดการอารมณ์ และพฤติกรรม วี้ดวี้วจะขอยกตัวอย่างมาซักสามสี่บท
คุณ Morgan Housel เริ่มต้นด้วยตัวอย่างที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วเพื่อที่จะให้ผู้อ่านได้เห็นว่าความสำเร็จทางการเงินนั้นเกิดขึ้นจากพฤติกรรมและความคิด แค่นั้น ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่านั้น คุณ Morgan Housel เล่าถึงคุณโรนัลด์ รี้ด ชายที่ทำงานเป็นภารโรง ชายที่ทำงานเป็นผู้ดูแลปั๊มน้ำมัน ชายที่จบมัธยมเป็นคนแรกของครอบครัว แต่ชายผู้นี้มึความมั่งคั่งถึง 8 ล้านเหรียญซึ่งได้มาจากการออมและการลงทุน
ในอีกด้านหนึ่งคุณ Morgan Housel ได้เล่าถึงคุณริชาร์ด ฟัสโคน ผู้บริหาร Merrill Lynch ที่จบมาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด แต่ต้องกลายเป็นบุคคล้มละลายจากวิกฤติการเงินในปี 2008 ซึ่งก่อนหน้านั้น ในช่วงกลางปี 2000 คุณริชาร์ด ฟัสโคนได้กู้เงินจำนวนก้อนใหญ่เพื่อมาต่อเติมบ้านสุดหรูขนาด 18,000 ตารางฟุต ที่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลถึง 90,000 เหรียญต่อเดือน แต่แล้วบ้านหลังนั้นก็ถูกยึดขายทอดตลาดไป เพื่อนๆเห็นอะไรไหมครับ?
ต่อมาในบทที่ 1 คุณ Morgan Housel กล่าวว่าคนเรานั้นแตกต่างกัน เกิดมาจากครอบครัวที่แตกต่างกัน ใช้ชีวิตแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ผ่านอะไรมาแตกต่างกัน มีประสบการณ์แตกต่างกัน อยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน จึงทำไห้การตัดสินใจเกี่ยวกับเงินและการลงทุนของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด
เพื่อนๆคงเคยได้ยินว่าการได้มานั้นยาก แต่ที่ยากกว่าคือการรักษาไว้ เช่นเดียวกับความมั่งคั่งครับ สำหรับในบทที่ 4 คุณ Morgan Housel ได้ยกตัวอย่างมหาเศรษฐีสองรายที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนครับ แต่ทั้งสองรายไม่สามารถรักษาไว้ได้ ถึงขั้นต้องแลกด้วยชีวิต คือพวกเขาไม่รอดนั่นแหละครับ ซึ่งการอยู่รอดนั้นสำคัญมากถ้าคุณต้องการประสบความสำเร็จด้านการเงิน ในบทนี้คุณ Morgan Housel ได้บอกถึงวิธีการเอาตัวรอดเอาไว้ครับ แต่จะเป็นวิธีอะไรนั้น เพื่อนๆสามารถหาได้ในหนังสือ The Psychology of Money จิตวิทยาว่าด้วยเงิน ที่สามารถคลิกซื้อได้จาก Shopee
ในบทที่ 7 คุณ Morgan Housel ได้กล่าวไว้ว่าที่สุดแล้วความมั่งคั่งที่แท้จริงนั้นคือการที่คุณสามารถใช้เวลาตามที่คุณต้องการ กับคนที่คุณต้องการ กับสิ่งที่คุณต้องการ นั่นก็คือคุณสามารถควบคุมเวลาของคุณได้ หาใช่การทำงานให้หนักที่สุด หรือการหาเงินได้มากกว่าคนอื่น
ส่วนในบทที่ 9 คุณ Morgan Housel ชี้ให้เราเห็นถึงความแตกต่างระหว่างความร่ำรวยและความมั่งคั่ง คนรวยอาจจะดูรวยเพราะใช้ของแพง รถหรูๆ นาฬิกาแพงๆ บ้านหลังใหญ่ๆ แต่ภายใต้ความร่ำรวยนั้นพวกเขาต้องคอยหาแต่เงินมาเพื่อทำให้ตัวเองดูรวย และพวกเขาอาจจะเป็นหนี้ก้อนโตอยู่ก็เป็นได้ แต่ความมั่งคั่งที่แท้จริงนั้นคือสินทรัพย์ทางการเงินที่ยังไม่ได้ถูกแปลงสภาพไปเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ
คุณ Morgan Housel ตอกย้ำในบทที่ 10 ว่าจัดการเงินและการลงทุนนั้นเกี่ยวข้องกับจิตวิทยาและพฤติกรรมของมนุษย์ อย่างเช่น การออมนั้นเป็นเป็นหนทางง่ายๆสู่ความมั่งคั่งเพราะคุณสามารถควบคุมการออมได้ง่ายกว่าการไปควบคุมผลตอบแทนจากการลงทุน และหนทางสู่การออมเพื่อความมั่งคั่งนั้นคือการใช้จ่ายให้น้อยลงซึ่งมันเหนื่อยน้อยกว่าการเพิ่มรายได้ วิธีใช้จ่ายให้น้อยลงคุณก็แค่ตัดกิเลสโดยไม่ต้องไปสนใจว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับคุณ ง่ายๆแค่นั้น
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่หนังสือ The Psychology of Money จิตวิทยาว่าด้วยเงินได้บอกเราก็คือการจัดการเงิน การลงทุนและความมั่งคั่ง นั้นมาจากจิตวิทยาและพฤติกรรม โดยผู้เขียนได้เขียนได้ใช้ตัวอย่างจากเหตุการณ์ในอดีต การกระทำของบุคคลที่มีชื่อเสียง และพฤติกรรมของคนที่เราเห็นๆกันอยู่ๆในสังคมมาอธิบาย ซึ่งบางอย่างก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่เรารู้ๆกันอยู่แล้ว เช่น การออม ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่ใช้เงินเกินตัว หรือถ้าใครยังไม่ได้เริ่ม ยังไม่ได้ทำ เชื่อว่าถ้าเพื่อนๆได้อ่านแล้ว จะเริ่มแน่นอนครับ สำหรับเพื่อนๆที่ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนหรือการจัดการเงิน ไม่ต้องกังวลนะครับ หนังสือเล่มนี้ไม่มีทฤษฎีการเงินยากๆ หรือการวิเคราะห์การเงินที่ซับซ้อน
แต่เป็นที่น่าเสียดายมากครับ หนังสือ The Psychology of Money นี่แปลได้ไม่ค่อยดี อ่านแล้วงง นอกจากนี้การเรียงประโยคและการใช้ถ้อยคำที่เเปลกๆ ทำให้หนังสือที่น่าสนใจกลายเป็นหนังสือที่อ่านยากและน่าเบื่อ ทีแรกนึกว่าวี้ดวิ้วรู้สึกคนเดียว แต่พอไปอ่านรีวิวจากผู้อ่านหลายๆคนให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน ควรปรับปรุงนะครับ
ข้อดี The Psychology of Money
- ใครอ่านก็ได้ ไม่มีทฤษฎีทางการเงินที่เข้าใจยาก
- มีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนว่าจิตวิทยาและพฤติกรรมเกี่ยวข้องอย่างไรกับการจัดการเงิน การลงทุน และความมั่งคั่ง
- แตกต่างจากหนังสือในประเภทเดียวกัน อ่านแล้วได้มุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับการจัดการเงิน การลงทุน และความมั่งคั่ง
- เชื่อว่าถ้าใครได้อ่านแล้ว หนังสือเล่มนี้จะเป็นแรงบันดาลใจและเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการจัดการเงิน การลงทุน และความมั่งคั่ง
- เนื้อหาในหนังสือไม่มากไป ไม่น้อยไป
ข้อเสีย The Psychology of Money
- บางหัวข้อในหนังสือก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่รู้ๆกันอยู่แล้ว
- การแปล การเรียบเรียง การใช้ถ้อยคำ ยังไม่ค่อยดี
ก็จบแล้วนะครับสำหรับการรีวิวหนังสือ The Psychology of Money จิตวิทยาว่าด้วยเงิน หนังสือดีๆอีกเล่มที่ทางเราอยากจะมาแนะนำให้อ่านกัน ถ้าเพื่อนๆ สนใจสามารถไปซื้อได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำ หรือสามารถกดซื้อทางช่องทางออนไลน์ ได้ที่ Shopee คลิกที่นี่นะ สำหรับรีวิวหนังสืออื่นไม่ว่าจะเป็น นิยาย บริหารธุรกิจ การตลาด คลิกไปอ่านกันได้ที่นี่นะครับ สำหรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการ คลิกที่นี่
อ้างอิง:
Morgan Housel, The Psychology of Money จิตวิทยาว่าด้วยเงิน, ลีฟ ริช ฟอร์เอฟเวอร์ , 2565
Collaborative Fund